หน้าหลัก
ITA
LPA
ประกาศจากระบบ e-GP
ประกาศจากระบบ e-GP ในเครือข่าย
องค์การบริหารส่วนตำบล คลองคูณ ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ
   
 
 
 

 
โครงการศึกษาเรียนรู้และเผยแพร่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕  
 

พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถสนพระราชหฤทัยในด้านการศึกษา และทรงยึดมั่นในคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ปัญญาทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ สติปัญญาเกิดขึ้นได้ด้วยการศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการอ่านหนังสือ พระราชกรณียกิจด้านการศึกษานานัปการ
ที่พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยนั้นประกอบด้วย ทรงส่งเสริมการศึกษาในระบบโรงเรียน เช่น พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียน สร้างโรงเรียน พระราชทานพระราชทรัพย์อุดหนุนโรงเรียน พระราชทานอุปกรณ์การเรียน ทรงรับโรงเรียนไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียน เป็นต้น ด้านการศึกษานอกโรงเรียน เช่น ทรงสอนหนังสือชาวบ้าน ทรงสร้างศาลาร่วมใจ ทรงส่งเสริมการอาชีวศึกษา ทรงอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนางานศิลปาชีพ นอกจากนี้ ยังทรงส่งเสริมการศึกษาของพระภิกษุสามเณร และทรงรับมูลนิธิแม่ชีไทยไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นต้น
พระอัจฉริยภาพด้านการศึกษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นที่ประจักษ์ทั่วไปทั้งในประเทศและนานาประเทศ พระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญด้วยพระวิริยอุตสาหะพระราชทานแก่องค์การศึกษาของภาครัฐ ภาคเอกชน และพสกนิกรทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษามีฐานะยากจน หรืออยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร ทำให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางการศึกษาแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เช่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ใน พุทธศักราช 2509 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ใน พุทธศักราช 2516 และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน พุทธศักราช 2535
ทรงเป็นครูที่ดี
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระอุปนิสัยรักการอ่านหนังสือมาก ซึ่งเป็นอุปนิสัยที่ได้ถ่ายทอดมายังพระราชโอรส พระราชธิดาทุกพระองค์ นอกจากจะโปรดการอ่านแล้วยังโปรดการเป็นครูด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเล่าไว้ในพระราชนิพนธ์ เรื่อง สมเด็จแม่กับการศึกษา ว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โปรดการเป็นครูมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยทรงเล่นเป็นครูและนักเรียนกับเด็กที่บ้าน ทรงมีวิธีการสอนที่สนุก เด็ก ๆ ในบ้านจึงชอบเป็นลูกศิษย์ของพระองค์ เมื่อพระราชโอรสและพระราชธิดายังทรงพระเยาว์ ทรงสอนให้พับกระดาษ เขียนรูป และทำการฝีมือต่าง ๆ ก่อนเข้าบรรทมทรงอ่านหนังสือหรือทรงเล่านิทานพระราชทาน และทรงซื้อหนังสือพระราชทานด้วย ซึ่งมีทั้งวรรณคดี ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม พุทธศาสนา ฯลฯ

เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ขณะที่เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมที่วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลังจากเสด็จเยี่ยมราษฎรแล้ว ทรงใช้ศาลาริมหาดปราณบุรี ประทับสอนหนังสือราษฎรด้วยพระองค์เอง ทรงทำหน้าที่เป็นครูใหญ่และข้าราชบริพารที่ตามเสด็จเป็นครูน้อยช่วยสอนหนังสือด้วย ทรงวางแผนการศึกษาอย่างมีระบบ โดยจัดครูสอนเป็นกลุ่ม ๆ ตามความรู้พื้นฐานของผู้เรียน และพระราชทานหนังสือเรียนให้ ซึ่งมีทั้งหนังสือเรียนตามระดับชั้น หนังสืออ่านประกอบ และหนังสือความรู้ทั่วไปสำหรับเด็กโต เช่น นิทานพื้นบ้าน นิทานชาดก ประวัติศาสตร์
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จะใช้วิธีสอนแบบตัวต่อตัวบ้าง เป็นกลุ่มเล็ก ๆ 2-3 คนบ้าง ทรงทดลองความรู้พื้นฐานของผู้เรียนโดยการซักถาม ให้อ่านหนังสือถวาย แล้วจึงเริ่มเรียนแล้วหัดอ่านจากผู้ช่วยต่อไป ทรงมีบันทึกรายชื่อนักเรียน ผลการเรียน และทรงติดตามความก้าวหน้าในการเรียนอย่างใกล้ชิด ถ้าใครเรียนดีก็จะพระราชทานรางวัลให้ วิธีการสอนของพระองค์นอกจากจะมุ่งให้ เด็กอ่านออกเขียนได้แล้ว ยังทรงแทรกความรู้ทางพุทธศาสนา จริยธรรม สุขภาพอนามัย และความรักชาติรักแผ่นดินเกิดด้วย นับเป็นแบบอย่างที่ดีของครู เพราะนอกจากจะทรงสอนวิชาการแล้ว ยังทรงอบรมให้เป็นคนดีด้วย
ทรงเป็นนักการศึกษา
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มิได้ศึกษาด้านการศึกษาโดยตรง แต่พระราชดำริที่พระราชทานในเรื่องการศึกษา ไม่ว่าจะเกี่ยวกับนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ โครงการศิลปาชีพ หรือศาลารวมใจล้วนแสดงถึงพระปรีชาญาณด้านการจัดการศึกษาของชาติทั้งสิ้น ศาลารวมใจ ที่พระราชทานไว้เมื่อ พุทธศักราช 2519 นั้น คือโครงการที่สอดคล้องกับปรัชญาการศึกษาสากลว่า การศึกษาคือชีวิต ประชาชนควรมีโอกาสที่จะศึกษาหาความรู้ได้ตลอดชีวิต ไม่เฉพาะแต่ในโรงเรียนเท่านั้น
ศาลารวมใจ คือ แหล่งเรียนรู้ที่ชาวบ้านสามารถศึกษาหาความรู้ได้ด้วยตนเอง เป็นที่พบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด สร้างความสามัคคีให้เกิดในชุมชน หนังสือประเภทต่าง ๆ ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระราชทานไว้ที่ศาลารวมใจทุก ๆ แห่ง คือ หนังสือความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประเทศไทย ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ศาสนาขนบธรรมเนียมประเพณี นวนิยายที่มีคติสอนใจ คู่มือทำการเกษตร ฯลฯ ชาวบ้านสามารถติดตามข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับบ้านเมืองได้ นอกจากนี้ยังมีรูปภาพติดตามผนัง มีสมุดภาพซึ่งรวบรวมภาพต่าง ๆ จากนิตยสาร ปฏิทินหรือภาพสิ่งที่น่าสนใจของประเทศไทย บางคราวที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปทรงเยี่ยมราษฎร ก็โปรดให้ราษฎรเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่ศาลารวมใจ ทรงฉายสไลด์ และทรงบรรยายเรื่องราวด้วยพระองค์เอง ศาลารวมใจนี้นอกจากเป็นห้องสมุดที่ชาวบ้านสามารถหาความรู้ด้วยตนเองแล้ว ยังมีห้องปฐมพยาบาลที่ให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้น เพราะนอกจากจะมียาพระราชทานแล้ว ยังเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร หมอหมู่บ้าน เป็นผู้ดูแลอย่างน้อย 1 คน เจ้าหน้าที่เหล่านี้มีความรู้พื้นฐานด้านการปฐมพยาบาล การสาธารณสุข และการใช้ยาสามัญประจำบ้าน สามารถให้คำแนะนำและช่วยเหลือชาวบ้านได้ ศาลารวมใจจึงเปรียบเสมือนศูนย์รวมชาวบ้านในท้องถิ่นทุรกันดาร เป็นทั้งห้องสมุด ห้องพยาบาล และห้องประชุมในคราวเดียวกัน ศาลารวมใจหลายแห่งสร้างอยู่ใกล้วัด ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน เพื่อดึงดูดให้ชาวบ้านที่มาวัดสนใจที่จะหาความรู้จากศาลารวมใจด้วย ศาลารวมใจมีทั้งหมด 7 แห่ง ดังนี้
ทรงเป็นนักการศึกษา
ศาลารวมใจบ้านกาด บ้านคอนเปา หมู่ 4 ตำบลบ้านกาด อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ พระราชทานเมื่อ วันที่ 9 มีนาคม พุทธศักราช 2519
ศาลารวมใจบ้านขุนคง บ้านขุนคง หมู่ที่ 5 ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ พระราชทานเมื่อ วันที่ 9 มีนาคม พุทธศักราช 2519
ศาลารวมใจพร้าว บ้านสหกรณ์นิคม 2 หมู่ที่ 6 ตำบลเขื่อนผาก อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ พระราชทานเมื่อ วันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2519
ศาลารวมใจบ้านวัดจันทร์ บ้านวัดจันทร์ หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ พระราชทานเมื่อ วันที่ 10 มีนาคม พุทธศักราช 2533
ศาลารวมใจภาคอีสาน ได้แก่
ศาลารวมใจเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม ตำบลเจริญศิลป์ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พระราชทานเมื่อ วันที่ 15 มกราคม พุทธศักราช 2535
ศาลารวมใจภาคใต้ ได้แก่
ศาลารวมใจวัดพระพุทธ บ้านวัดพระพุทธ หมู่ที่ 3 ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส พระราชทานเมื่อ วันที่ 26 กันยายน พุทธศักราช 2521
ศาลารวมใจวัดสารวัน บ้านลุดง (สารวัน) หมู่ที่ 2 ตำบลไทรทอง กิ่งอำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี พระราชทานเมื่อ วันที่ 18 มิถุนายน พุทธศักราช 2527
การจัดสร้างศาลารวมใจได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหลายฝ่ายทั้งหน่วยงานของรัฐและประชาชน ราษฎรในถิ่นร่วมมือร่วมใจกันดูแลและพัฒนาบริเวณโดยรอบของศาลารวมใจ เช่น การทำความสะอาดและการปลูกต้นไม้ให้สวยงามน่าดู ศาลารวมใจที่พระราชทานนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป
ทรงส่งเสริมการอาชีวศึกษา
ตลอดระยะเวลาที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภาคของประเทศทรงพบว่าราษฎรส่วนหนึ่งที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทนั้นยากจน ไม่มีที่ทำกิน ไม่มีอาชีพ ด้อยโอกาสทางการศึกษา มีความรู้เรื่องสุขอนามัยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมอาชีพของราษฎรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวให้มีความสุข ทุกครั้งที่เสด็จพระราชทานดำเนินไปเยี่ยมราษฎรจะทรงสังเกตชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพอนามัย การแต่งกาย และสิ่งของที่ราษฎรนำมาทูลเกล้ากระหม่อมถวาย ว่าจะมีสิ่งใดหรือวิธีใดที่จะทรงหยิบยกขึ้นมาส่งเสริมให้เป็นอาชีพเสริมแก่ ราษฎรได้ เช่น ราษฎรแต่งกายด้วยผ้าไหมมัดหมี่ที่ทอใช้กันเองในครัวเรือน ก็ทรงตระหนักด้วยพระปรีชาญาณว่า หัตถกรรมเหล่านี้มีคุณค่าทางศิลปะซึ่งสืบทอดภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษ สมควรที่จะอนุรักษ์ไว้ให้เป็นสมบัติของชาติ พระราชดำริที่จะพัฒนางานหัตถกรรมพื้นบ้านต่าง ๆ เช่น หัตถกรรมทอผ้า เครื่องปั้นดินเผา เครื่องจักสาน เครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องถม ไม้แกะสลัก เป็นต้น ได้กลายเป็นโครงการศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถสัมฤทธิผลของโครงการศิลปาชีพ ถือเป็นการศึกษาด้านอาชีพ หรือการอาชีวศึกษาที่สำคัญของชาติ เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก เป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นที่ชื่นชมของนานาประเทศ
การศึกษาด้านศิลปาชีพนั้นพัฒนาอย่างรวดเร็ว ด้วยทรงวางแผนการศึกษาอย่างครบวงจร โปรดให้ชาวบ้านในชุมชนเดียวกันนั้น หรือชุมชนใกล้เคียงเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านหัตถกรรมทั้งหลายให้แก่ลูกหลานหรือเพื่อนบ้านของตน เช่น การทอผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหม และผ้าฝ้ายลวดลายดั้งเดิมชนิดต่าง ๆ การจักสาน เช่น จักสานย่านลิเภา ไม้ไผ่ และหวาย เป็นต้น ส่วนงานหัตถกรรมที่ชาวบ้านไม่เคยเรียนรู้มาก่อน เช่น การปั้นตุ๊กตาไทยหรืองานหัตถกรรมที่ต้องใช้ความสามารถและความอดทนสูง เช่น งานเครื่องเงินเครื่องทอง งานคร่ำ งานถมเงินถมทอง ก็โปรดให้แสวงหาครูผู้มีความสามารถ เช่น นานไพฑูรย์ เมืองสมบรูณ์และนายจุลทัศน์ พยาฆรานนท์ มาถ่ายทอดวิชาให้ เมื่อนักเรียนในโครงการมีฝีมือดีและชำนาญแล้ว ก็จะคัดเลือกให้เป็นครูต่อไป ทรงติดตามผลงานจากผลิตภัณฑ์ทุกชิ้น และพระราชทานคำแนะนำในการพัฒนางานให้สวยงามสมบรูณ์ขึ้น ทรงหาตลาดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ทรงรับซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ทรงเป็นแบบอย่างให้ประชาชนใช้ผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่นิยมของคนไทยและชาวต่างประเทศพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในการพัฒนางานอาชีพตามโครงการศิลปาชีพ นอกจากจะส่งผลให้สมาชิกในโครงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างช่างฝีมือที่ชำนาญในศิลปะไทยหลายแขนง เช่น ช่างทอง ช่างเขียน ช่างปั้น ช่างไม้แกะสลัก ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นศิลปะที่ประณีตงดงามเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติภูมิของไทยอย่างยิ่ง
พระบรมราชินูปถัมภ์ด้านการศึกษา
โรงเรียนเจ้าแม่หลวงอุปถัมภ์ 1 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนเริ่มแรกเป็นเงิน 13,500 บาท ในการสร้างโรงเรียนเจ้าแม่หลวงอุปถัมภ์ 1 สำหรับชาวไทยภูเขาเผ่าเย้าที่บ้านห้วยขาน ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 เมษายน พุทธศักราช 2505 ทรงมอบโรงเรียนให้อยู่ในความดูแลของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ปัจจุบันเป็นโรงเรียนที่สอนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
โรงเรียนเจ้าแม่หลวงอุปถัมภ์ 2 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 20,000 บาท เพื่อสร้างอาคารหลังใหม่ให้แก่โรงเรียนชายแดนสงเคราะห์ 14 ของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ตำบลแม่ริม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารเมื่อ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2510 และพระราชทานนามว่า โรงเรียนเจ้าแม่หลวงอุปถัมภ์ 2 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียนนี้หลายครั้ง โรงเรียนได้โอนไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อพุทธศักราช 2523
นักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับนักเรียนยากจนขาดโอกาสทางการศึกษาที่ทรงพบด้วยพระองค์เองระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์เกือบสองพันคน มีพระราชเสาวนีย์ให้กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถติดตามดูแลความประพฤติและความเป็นอยู่ของนักเรียนนิสิต นักศึกษาที่ได้รับทุนเหล่านี้อย่างใกล้ชิด กองราชเลขานุการฯ มีหน้าที่จะต้องกราบบังคมทูลรายงานให้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาททุกเดือน นักเรียนทุนจะมีแฟ้มประวัติประจำตัว มีข้อมูลบันทึกไว้ครบถ้วน เช่น ประวัติส่วนตัว ประวัติครอบครัว สถานศึกษา รูปถ่าย ที่อยู่ที่ติดต่อได้ ผลการเรียน บัญชีค่าใช้จ่ายที่พระราชทาน จดหมายรายงานความเป็นอยู่ของนักเรียน ฯลฯ ทุนการศึกษานี้พระราชทานแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
นอกจากนี้ยังพระราชทานทุนการศึกษาแก่เด็กพิการให้เข้ารับราชการศึกษาในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ คือ
โรงเรียนสอนคนตาบอด ได้แก่ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพมหานคร โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่
โรงเรียนสอนคนหูหนวก-หูตึง ได้แก่ โรงเรียนเศรษฐเสถียร ถนนพระราม 5 โรงเรียนโสตศึกษา ทุ่งมหาเมฆ กรุงเทพมหานาคร
โรงเรียนอนุสารสุนทร จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนโสตศึกษาขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดสงขลา
โรงเรียนสอนคนปัญญาอ่อน ได้แก่ โรงเรียนกาวิละอนุกูล จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนอุบลปัญญานุกูล จังหวัดอุบลราชธานี
โรงเรียนสอนคนพิการแขนขาและลำตัว ได้แก่ ศรีสังวาลย์ จังหวัดนนทบุรี
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถมีพระราชเสาวนีย์ให้กองราชเลขานุการ ฯ ปฏิบัติเช่นเดียวกับนักเรียนสามัญ มีประวัติและติดตามผลการศึกษา จนจบการศึกษาตามความสามารถ เพื่อไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณสูงสุด แก่นักเรียนและการศึกษาของชาติ
ข้อมูลจาก :www.belovedqueen.com

 

ข่าว ณ. วันที่ 29 ก.ย. 2565 เวลา 15.00 น. โดย คุณ บุญเจตร์ เลิศจันทร์

ผู้เข้าชม 136 ท่าน

 
 
 
 
 
 
 
 
รับเรื่องร้องเรียน
โทร 056-619-991
 
  นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ | นโยบายคุกกี้ | แผนผังเว็บไซต์  
  Version ขั้นต่ำของ Browser IE9 / Firefox 3.5 / Chrome / Safari4 / Opera10